นางนวลจันทร์ ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒาการเกษตรสุรินทร์ นำบุคลากรจัดพิธีแซนโฎนตา ณ ศูนย์วิจัยและพัฒาการเกษตร สุรินทร์
#ประเพณีแซนโฎนตา ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่ลูกหลานจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
✨ประเพณีวันสารทของคนวัฒนธรรมเขมร ครอบครัวและเครือญาติได้กลับมาพบหน้ากัน เพื่อทำบุญให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เฉกเช่นเดียวกับ “วันสารทไทย”, “วันสารทจีน” และในวัฒนธรรมของชาวเขมรก็มีประเพณี “วันสารทเขมร” หรือที่เรียกกันว่า “ประเพณีแซนโฎนตา” ซึ่งชาวเขมร รวมทั้งชาวไทยเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับประเพณีนี้เป็นอย่างยิ่ง
? วันแซนโฎนตา หรือ ไงแซนโฎนตา ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งในปี 2564 วันแซนโฎนตา ตรงกับวันนี้ (5 ตุลาคม) คำว่า “ไง” หมายถึง วัน คำว่า “แซน” หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง คำว่า “โฎน” หมายถึง ย่าหรือยาย คำว่า “ตา” หมายถึง ปู่หรือตา ดังนั้นประเพณีนี้จึงหมายถึง การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นวันสารทเดือนสิบของชาวเขมร ในช่วงเวลานี้ ลูกหลานชาวเขมรที่ไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ จะเดินทางกลับมาหาครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ
ทั้งนี้ ชาวเขมรมีความเชื่อว่า เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ประตูยมโลกจะเปิด เพื่อให้ผู้รับกรรมที่อยู่ในนรกได้เดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวเขมรจึงจัดทำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ในตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 และพอรุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะนำอาหาร ขนม ข้าวต้ม ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัด เรียกว่า “วันเบ็นตูจ” โดยเชื่อว่าผีจะออกมาจากยมโลกได้ 15 วัน หลังจากนั้นต้องกลับไปรับกรรมในยมโลกตามเดิม จากวันเบ็นตูจนับไปอีก 15 วัน (นับจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10) จะตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คือ “วันเบ็นทม” ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธีแซนโฎนตา อีกส่วนสำคัญคือการเตรียม “บายเบ็ญ” โดยเตรียมอาหาร ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ ใส่กระทงเล็ก ๆ หลายใบ และจัดใส่กระทงใบใหญ่สัก 2 ใบ นำมาตั้งไว้นอกรั้วบ้านในวันแรม 15 ค่ำ เพื่อให้ผีที่ไม่มีญาติ การประกอบพิธีแซนโฎนตา แต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ทั้งอาหารคาว-หวาน ผลไม้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน เซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน ประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตาที่บ้าน และประกอบพิธีกรรมที่วัด
?โดยการทำเช่นนี้เพื่อให้บรรพบุรุษรับผลบุญกุศลที่อุทิศไป ทำให้บ่วงกรรมที่มีบรรเทาลง ซึ่งชาวเขมรยึดถือประเพณีนี้สืบทอดกันมาอย่างยาวนานด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าในยุคของตนได้แซนโฎนตาให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ไปแล้ว รุ่นลูกจะต้องแซนโฎนตาให้ตนเหมือนกัน เพื่อให้ลูกหลานต้องปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันไป เช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติหรือลูกหลานนำอาหารจำนวนมากมาทำบุญที่วัด บรรพบุรุษก็จะเกิดความปลื้มอกปลื้มใจ เมื่อถึงกำหนดวันที่ต้องกลับไปนรก ก็จะอวยพรให้ญาติหรือลูกหลานมีความสุขความเจริญ ประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จ มีเงินมีทองใช้ แต่ถ้าไม่เห็นลูกหลานเตรียมสำรับไว้ให้ ก็จะรู้สึกโศกเศร้า ผิดหวัง จนโกรธและสาปแช่งญาติหรือลูกหลานไม่ให้มีความสุขความเจริญ ดังนั้นชาวเขมรจึงประกอบพิธีนี้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน